ทุกเดือนเวลาที่เราได้รับบิลค่าไฟฟ้า เชื่อว่าหลายคนคงไม่สนใจว่าแต่ละเดือนเราใช้ไฟไปกี่หน่วย หรือค่าไฟที่เราต้องจ่ายเดือนนี้คำนวณมาจากอะไร จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากเลยครับ ถ้าลองเริ่มต้นคำนวณ แล้วหาวิธีลดการใช้พลังงานไฟฟ้า เชื่อว่าค่าไฟฟ้าคราวหน้าต้องถูกกว่าเดิมแน่นอน
สิ่งที่เราต้องรู้สำหรับการคำนวณค่าไฟฟ้า
1. กำลังไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (หน่วยเป็นวัตต์) เราหาได้จากคู่มือการใช้งาน หรือเอกสารที่แนบมากับเครื่องใช้ไฟฟ้าครับ
2. จำนวนชั่วโมงที่ใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า ข้อนี้อาจใช้วิธีประมาณคร่าว ๆ ได้ว่าแต่ละวันเราใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดนั้น ๆ กี่ชั่วโมง
เมื่อนำข้อ 1 มาคูณข้อ 2 แล้วหารด้วย 1,000 จะได้จำนวนพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ ซึ่งมีหน่วยคือยูนิต เช่น เครื่องปรับอากาศ 2,000 วัตต์ คอมเพรสเซอร์ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน จะได้ (2,000 x 8)/1,000 = 16 หน่วยต่อวันหรือยูนิตต่อวัน
– หากคิดเป็นหน่วยต่อเดือน (ตามบิลค่าไฟฟ้า) จะต้องนำมาคูณ 30 วันด้วย คือ 16 x 30 = 480 หน่วยต่อเดือน
– หากคิดเป็นหน่วยต่อปี (ตามตัวเลขพลังงานไฟฟ้าคร่าว ๆ ในฉลากประหยัดไฟ) จะต้องนำมาคูณทั้ง 30 วันและ 12 เดือน คือ 16 x 30 x 12 = 5,760 หน่วยต่อปี
ปกติแล้วบิลค่าไฟฟ้า จะคำนวณเป็นหน่วยต่อเดือน ซึ่งเราจะต้องรู้เพิ่มอีก 3 อย่างคือ
3. อัตราค่าพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วย ซึ่งการไฟฟ้าจะแบ่งเป็นช่วงตามจำนวนหน่วยที่ใช้งาน เช่น ในกรณีของบ้านที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่า 150 หน่วยต่อเดือน จะมีค่าพลังงานไฟฟ้า ดังนี้
– 150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 1-150) คิดหน่วยละ 3.2484 บาท
– 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151-400) คิดหน่วยละ 4.2218 บาท
– เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) คิดหน่วยละ 4.4217 บาท
ตัวอย่างเช่น เครื่องปรับอากาศที่เราคำนวณด้านบน ใช้พลังงานไฟฟ้า 480 หน่วยต่อเดือน เราจะต้องคำนวณค่าไฟโดยแบ่งตามช่วงของค่าพลังงานไฟฟ้าเป็น 3 ช่วง คือ (150 x 3.2484) + (250 x 4.2218) + (80 x 4.4217) = 487.26 + 1,055.45 + 353.736 = 1,896.446 บาท
4. ค่าการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่าค่า Ft เป็นค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ ซึ่งค่า Ft จะปรับทุก 4 เดือน เราตรวจสอบค่า Ft ได้จากใบแจ้งหนี้หรือใบเสร็จรับเงิน ค่า Ft เป็นได้ทั้งบวกและลบ เช่น ค่า Ft เดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2561 อยู่ที่หน่วยละ -0.1590 บาท
ตัวอย่างเช่น เครื่องปรับอากาศที่เราคำนวณด้านบน ใช้พลังงานไฟฟ้า 480 หน่วยต่อเดือน มีค่า Ft เท่ากับ 480 x (-0.1590) = -76.32 บาท ดังนั้นเราต้องเสียค่าไฟรวมแล้ว 1,896.446-76.32 = 1,820.126 บาท
5. ภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่าลืมว่าผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) ทุกเดือน โดยคิดจากค่าพลังงานไฟฟ้าที่บวกหรือลบค่า Ft แล้ว
ตัวอย่างเช่น เครื่องปรับอากาศด้านบน เราต้องเสีย VAT เท่ากับ 1,820.126 x 0.07 = 127.41 บาท
สรุปว่าเราต้องเสียค่าไฟให้เครื่องปรับอากาศตัวนี้เท่ากับ
ค่าพลังงานไฟฟ้า 480 หน่วย | (150 x 3.2484) + (250 x 4.2218) + (80 x 4.4217) | 1,896.446 บาท |
ค่า Ft | 480 x (-0.1590) | -76.32 บาท |
รวม | 1,896.446-76.32 | 1,820.126 บาท |
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) | 1,820.126 x 0.07 | 127.41 บาท |
ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ | 1,820.126+127.41 | 1,947.536 บาท |
ปกติแล้วถ้าค่าไฟมีเศษสตางค์ จะปัดเป็นเศษ 25, 50 และ 75 สตางค์ โดยถ้าต่ำกว่า 12.50 สตางค์จะปัดลง ถ้ามากกว่า 12.50 สตางค์จะปัดขึ้น ในกรณีนี้จึงเท่ากับ 1,947.50 สตางค์
นี่เป็นตัวอย่างการคำนวณค่าไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าเพียงชนิดเดียว ลองใช้หลักการนี้คำนวณหาเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่น ๆ ดูนะครับ แล้วเราจะรู้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดใดบ้างเปลืองไฟ และชนิดใดบ้างประหยัดไฟ